จากปรัชญาการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิวางไว้ว่า การจัดการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิมีเป้าหมายที่จะนำชีวิตจริงและความกระตือรือร้นใฝ่ศึกษาของเด็กเป็นตัวตั้ง โดยผ่านการฝึกฝนพฤติกรรมที่ดีงาม ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กพัฒนาเต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ทั้งร่างกายจิตใจ สังคม และสติปัญญา แบบองค์รวม
สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในอัตลักษณ์โรงเรียน ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ธรรมะจากธรรมชาติและสรรพสิ่ง รู้ธรรมชาติของสรรพชีวิต บ่มเพาะความจริง ความดี ความงามสู่ปัญญาตน คือ ศานติสุขสมบูรณ์ของชีวิต

ครูสโลพร ตรีพงษ์พันธ์ – ครูอ๊อบ ผู้อำนวยการและเจ้าของโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ เล่าถึงการก่อตั้งโรงเรียนในปีพศ. 2543 ที่ครอบครัวของเธอ โดยคุณแม่คิดทำโรงเรียนเพื่อให้การศึกษากับหลานตัวน้อย แต่ได้คิดแบ่งปันถึงเด็กๆอื่นๆในบริเวณฝั่งธน ย่านศาลาธรรมสพน์ จากพื้นที่บ้านที่อยู่อาศัย จึงขยับขยายออกมาเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่เป็นเสมือนบ้านอันอบอุ่นของเด็กๆ ตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล – อนุบาล 3 ในปัจจุบันที่มีนักเรียนอยู่ 210 คน และเมื่อ 6 ปีก่อนก็เติบใหญ่ แตกกิ่งก้านออกมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ประถมภูมิธรรม เปิดสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 อยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อให้เส้นทางการเรียนรู้ในแนวทางนี้ได้บ่มเพาะเด็กๆได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนตัวครูอ๊อบเองแม้จะร่ำเรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะเคยเชื่อว่าเศรษฐศาสตร์จะมาช่วยชาติได้ เมื่อได้มาทำโรงเรียนด้วยความรักในการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ จึงได้ไปเรียนต่อในหลักสูตร Early childhood จากต่างประเทศเพิ่มเติม และยังได้ไปศึกษาดูงานโรงเรียนทางเลือกอื่นๆ และนำนวัตกรรมการศึกษาที่หลากหลาย เช่น Project Based-Learning ,Reggio Emilia และการศึกษาวิถีพุทธนำมาบูรณาการในการจัดเรียนการสอน
รวมทั้งได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธโฆษาจารย์( ปอ. ปยุตฺโต) จากหนังสือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแก่นที่อยู่เบื้องหลังการจัดการศึกษาของโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ โดยนำมาพัฒนาเป็นโครงสร้างการศึกษา 3 ส่วน คือ ส่วนแรกคือ ไตรสิกขา ส่วนที่ 2 คือ กระบวนการเรียนรู้ด้วยวิถีธรรมชาติของเด็กว่าจะเรียนรู้อะไร อย่างไร โดยผ่านธีมการเรียนรู้ องค์การเรียนรู้ทั้ง 4 องค์ ส่วนที่ 3 คือทักษะความรู้ต่างๆ ทักษะภาษา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ ที่สอดคล้องกับพัฒนาของช่วงวัยของเด็ก โดยนำมาบูรณาการเป็นกระบวนการจัดการศึกษาแบบองค์รวม

กระบวนการจัดการศึกษาแบบองค์รวมของโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ ได้รับการออกแบบเนื้อหาให้สอดคล้องกับสภาพความจริงของธรรมชาติที่สอดคล้องกับมนุษย์ สังคม และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างประสาน เกื้อกูล เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขผ่านองค์การเรียนรู้ 4 องค์ ซึ่งเป็นธรรมชาติและธีมการเรียนรู้แบบ spriral progression approach ของนักเรียนพลอยภูมิในแต่ละภาคเรียน
องค์การเรียนรู้ที่ 1 ธรรมชาติกับตัวเรา เป็นการให้เด็กเข้าใจถึงตัวเราซึ่งประกอบด้วยกาย ใจ ธาตุ4 ดิน น้ำ ลมไฟ เราจึงควรศึกษาธรรมชาติภายในตน เพื่อรู้จักตนเองทั้งกายใจและธรรมชาติภายนอก
องค์การเรียนรู้ที่ 2 ธรรมชาติกับสังคม เด็กๆ เรียนรู้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา เช่น ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน รู้จักการมีปฏิสัมพันธ์ต่อเพื่อน ครู ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องดีงาม
องค์การเรียนรู้ที่ 3 ธรรมะกับธรรมชาติ ครูชวนเด็กสังเกตุความดี ความจริง ความงามในธรรมชาติ และมองไปถึงว่ามนุษย์สัมพันธ์อย่างไรกับธรรมชาติ การเกื้อกูลกันของธรรมชาติ
องค์การเรียนรู้ที่ 4 ธรรรมชาติกับเทคโนโลยี เด็กเรียนรู้ว่าการกิน เป็น อยู่เป็นของเด็ก มีคุณค่าแท้ คุณค่าเทียมอย่างไร และท้ายสุดครูมีเป้าหมายที่อยากเห็นเด็กเป็นผู้ผลิตได้เอง สร้างของเล่นขึ้นมา สามารถสร้างความสุขให้ตนเองได้

โดยมีความรู้ทางวิชาการและการพัฒนาทักษะต่างๆ ตลอดจนวิถีชีวิตของเด็กๆ และครอบครัว บูรณาการไปด้วยกันอย่างกลมกลืน บนความสุขและความสนุกสนานในการเรียนรู้

ทั้งหมดนี้เป็นภาพใหญ่ของโครงสร้างการเรียนรู้ของนักเรียนพลอยภูมิที่มีจุดเน้นที่แตกต่างกันไปตามวัยและศักยภาพของเด็กแต่ละระดับชั้น หากแต่จุดสำคัญก็คือ ครูทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ เป็นผู้จัดกระบวนการและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆเพื่อให้เด็กค้นพบองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
“ เราเชื่อว่าในการจัดการศึกษา เด็กควรจะเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาที่เด็กจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เรียนรู้สิ่งที่เป็นปกติ ธรรมดา Ordinary ในชีวิตเขาแต่ทำให้ Extraordinary พิเศษกว่าความปกติ ธรรมดา มองอย่างมีคุณค่าและมีความลึกซึ้งมากขึ้น เราไม่ได้ไปเรียนอะไรที่ไกลตัวเด็กมาก อย่างเรื่องจักรวาล เรื่องอวกาศ เราเริ่มต้นการเรียนรู้ที่ตัวเขา” เป็นแนวคิดหลักของโรงเรียนที่ครูอ๊อบได้วางแนวทางไว้
“ ครูจะ Inspire เด็ก คอยกระตุ้นการเรียนรู้ ดูว่าเด็กมีองค์ความรู้เดิมคืออะไร และเขาอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ครูมีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้และบันทึกร่องรอยการเรียนรู้ของเด็ก สังเกต ติดตาม ไปจนถึงสะท้อนการเรียนรู้ของเด็ก จนไปถึงการสรุปความรู้ ”
“ หน้าที่ของครูคือต้องฟังและคอยตั้งคำถาม ครูจะบันทึกการเรียนรู้ของเด็กอย่างสม่ำเสมอ ที่นี่เราจะทำเรื่องบันทึก ( Document) เก็บข้อมูล จากคำถามที่ครูถามเด็ก เด็กคุยกันอย่างไร เด็กมีการเรียนรู้อย่างไร เป็นการทำให้การเรียนรู้ของเด็กปรากฏออกมา(Visible learning) ครูมองเห็นการเรียนรู้ของเด็กที่เกิดตรงหน้าแล้วนำมาสรุปความรู้ และสะท้อนการเรียนรู้ของเด็ก นำมาบอกกล่าวให้กับพ่อแม่ในทุกปลายภาคเรียน ”
“มันยากเหมือนกันที่เราต้องฝึกครูให้เป็นผู้ตั้งคำถามที่ดี ครูต้องใจเย็นพอ ไม่รีบสอนมากจนเกินไป ” ตรงนี้ครูอ๊อบย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญ
และอีกเป้าหมายหนึ่งของครูอ๊อบที่กำลังดูแล พัฒนาครู โดยหมายมั่นให้ครูมีศักยภาพ สามารถต่อยอดจากสิ่งที่เด็กค้นพบ และทำให้เกิดการอยากเรียนรู้ต่อไปอย่างไม่จบสิ้น
ครูไม่ใช่กูเกิ้ล เพราะการศึกษาคือการค้นหาความจริง
“ ความรู้ต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่ครูจะต้องรีบให้คำตอบ เรายังอยากให้เด็กมีความกระหายใคร่รู้ ยังเก็บเป็นคำถามอยู่ในใจ ครูไม่จำเป็นต้องเป็นกูเกิ้ล ตอบทุกอย่าง อะไรที่ครูไม่รู้ ก็ไม่ต้องตอบก็ได้
การที่เด็กเก็บความกระหายใคร่รู้ในใจ เขายังมีความสงสัยกับโลกใบนี้ โลกยังน่าสนใจ น่าพิศวง น่าค้นหา น่าเรียนรู้ ไม่ใช่แค่พอรู้แล้วก็ อ๋อ แค่นั้นเหรอ จบแล้วใช่มั้ย เพราะการศึกษาจริงๆแล้ว ก็คือ การค้นหาความจริงนั่นเอง ” เป็นมุมมองของครูอ๊อบที่ตอกย้ำกับคุณครูอยู่เสมอ
การที่จะทำให้ครูเป็นผู้นำพาการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง เด็กสามารถเกิดความเข้าใจและเข้าถึงคุณค่าในสิ่งที่เรียนรู้มา ครูอ๊อบใช้การชวนคิด ชวนครูคุยถึงแนวคิดใหญ่ว่าแก่นแท้ของการศึกษาคืออะไร พาคุณครูทบทวนกันเสมอๆ ครูของพลอยภูมิจะได้รับการบ่มเพาะมาเรื่อยๆ เช่นกันกับนักเรียน ครูอ๊อบมีหน้าที่ชี้ชวนให้ครูได้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริง ซึ่งหลายๆคนก็ได้เห็นด้วยตนเอง
“ การปฏิบัติธรรมช่วยได้เยอะมาก เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งทีเดียวที่ทำให้ครูได้เห็นทันความอยากของตัวเอง เห็นว่าเขาอยากให้องค์ความรู้กับเด็กมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียว หากแต่เมื่อปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ครูหลายคนก็ก้าวข้ามผ่านไปได้ว่าเรื่องนี้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตครูเองอีกด้วย…
ที่นี่เราอยู่กันเป็นระบบครอบครัว ไม่ได้มีระดับชั้นการปกครอง เรามีความใกล้ชิดกัน บางครั้งเราเองก็ลงไปช่วยห้องเรียน ในทุกช่วงวันหยุดที่เด็กหยุดเรียนระหว่างองค์ของการเรียนรู้ เราจะมีการนัดหมายพูดคุยกันเพื่อให้ครูนำเอา Best Practice ที่ตัวเองเรียนรู้มาแลกเปลี่ยน ถอดบทเรียนกับเพื่อนครูด้วยกัน ”

เมื่อการเรียนรู้เดินทางมาถึงช่วงท้ายภาคเรียน เด็กๆ ครู และพ่อแม่จะพบกันในงานภูมิผลิใบ กิจกรรมสรุปการเรียนรู้ท้ายภาคเรียนที่นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่เด็กๆได้นำเสนอสิ่งที่เรียนรู้มาให้กับพ่อแม่แล้ว ในส่วนของครูก็จะนำเสนอการเรียนรู้ของเด็กให้พ่อแม่เช่นกัน ทั้งการพูดคุยและการสรุปกิจกรรมการเรียนรู้อย่างละเอียดละออ ทำเป็นเอกสารฉบับหนาออกมา เพราะครูไม่ได้บอกกล่าวเฉพาะลูกของพ่อแม่แต่ละคน แต่ครูบันทึกบทสนทนา คำพูดโต้ตอบ ความคิดเห็นของเด็กๆและเพื่อนๆ ในห้องทั้งหมด ในบางภาคเรียน เอกสารบันทึกการเรียนรู้เล่มนี้มีความยาวเกือบ 50- 60 หน้าทีเดียว
น่าทึ่งมากจริงๆที่ครูของอนุบาลพลอยภูมิมีสายตาที่ละเอียดลออ และทุ่มเทให้กับเด็กๆ ขนาดนี้ ทั้งนี้เพราะครูที่นี่เชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนเท่านั้น เมื่อพ่อแม่ได้เห็นภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ ของลูกที่โรงเรียน จะสามารถนำไปต่อยอดการเรียนรู้ที่บ้านได้
จากธรรมชาติในโรงเรียนเชื่อมสู่ธรรมชาติภายนอก
เมื่อเดินเข้ามาในโรงเรียน แม้ว่าจะไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต แต่เราจะเห็นความเขียว สีสันของธรรมชาติ ต้นไม้น้อยใหญ่ สนามหญ้ากว้าง เด็กๆ วิ่งเล่น เดินสำรวจธรรมชาติ จากความคุ้นเคยกับธรรมชาติในโรงเรียนเชื่อมไปสู่ธรรมชาติในโลกกว้าง เป็นเรื่องที่ว้าว น่าแปลกใจมากที่นักเรียนอนุบาล 3 ที่นี่มีโอกาสได้เดินป่าและเป็นป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เลยทีเดียว และยังเป็นความสมัครใจของเด็กๆ เอง
พื้นที่เรียนรู้(Learning space) ของเด็กๆอนุบาลบ้านพลอยภูมิจึงกว้างใหญ่ไพศาล และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำกัด เพราะครูอ๊อบมีความเชื่อว่าธรรมชาติเป็นวิชาแรกของโลกใบนี้



ค่ายสุนทรียศาสตร์ในธรรมชาติ เป็นค่ายประจำปีในช่วงปิดเทอมของเด็กๆ อนุบาล3 โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิที่ครูและเด็กพากันไปเดินป่า สำรวจป่าเขาใหญ่เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ โดยไม่มีคุณพ่อคุณแม่ไปด้วย เป็นโอกาสที่เด็กๆและคุณครูได้ออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตน (Comfort Zone) ล่าสุดคือเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เด็กอนุบาล 3 ทุกคน จำนวน 51 คนพร้อมคุณครู 20 กว่าคน เข้าร่วมกิจกรรมค่าย และเมื่อกลับมาจากค่าย พ่อแม่บอกว่าลูกเปลี่ยนไป ลูกช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น
“ ในระหว่างทางการเดินป่า มีเรื่องราวมากมาย เราเห็นความสัมพันธ์ต่างๆในธรรมชาติ เด็กเรียนรู้และใช้ทักษะหลากหลาย แค่เจอขอนไม้ ก็ต้องวางแผนว่าจะปีนข้ามอย่างไร เห็นได้เลยว่าเด็กเติบโตขึ้น เด็กรุ่นแรกของเราเมื่อ12 ปีที่แล้วที่ไปเดินป่า บอกว่ายังจดจำโมเมนต์เหล่านั้นได้


เราเห็นว่าเด็กเขาสุขง่าย ทุกข์ยาก สุขกับธรรมชาติ ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามบริบท เด็กเจอก้อนหิน ใบไม้ เขาสามารถหยิบจับมาเล่น มาสร้างสรรค์ได้ ไม่ต้องมีของเล่นแพงๆ ก็สุขได้ เราทึ่งในศักยภาพของเด็กมาก พ่อแม่เองก็บอกว่าค่ายนี้ไม่ใช่แค่ฝึกลูก แต่เป็นการฝึกใจพ่อแม่ไปด้วย เพราะท้ายที่สุดเด็กๆ ก็ต้องเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง ”
ในส่วนการเรียนรู้ของครูจากการเดินป่าเขาใหญ่ครั้งนี้ ครูอ๊อบบอกว่า “ ครูเราเองก็อยากไป ตอนนี้เป็นวัฒนธรรมของโรงเรียนไปแล้ว เราเห็นว่าครูอดทน ใจเย็นขึ้น แม้ว่าครูกับเด็กต้องอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง ครูได้เรียนรู้ในเรื่องการวางใจลูกศิษย์มากขึ้น เชื่อว่าลูกศิษย์จะสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ครูได้เห็นมุมที่แตกต่างกันของเด็กที่ต่างจากเวลาที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน หรือเด็กอยู่กับพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูช้าลง ชะลอตัวเอง คอยสังเกตุ ไม่รีบเข้าไปช่วย หรือเข้าไปบอก ไปสอน ทำให้ครูได้เปิดพื้นที่ให้เด็กเติบโตมากขึ้น ”
ค่ายสุนทรียศาสตร์ในธรรมชาติทุกครั้ง ครูอ๊อบลงไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับครูด้วย ครูอ๊อบบอกว่าทำให้ได้ใจกันมากขึ้น นอกจากจะเห็นเด็กเติบโตแล้ว ครูอ๊อบยังได้เห็นครูพัฒนาขึ้นไป หลายคนที่ก้าวข้ามความกลัว ในส่วนของครูกับเพื่อนครูด้วยกัน ก็ได้เห็นถึงการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือกัน มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ครูใหม่ได้เรียนรู้จากครูเก่า
“นอกเหนือไปจากการได้ฝึกทักษะ EF หรือ ทักษะการช่วยเหลือตนเองอื่นๆแล้ว ในโลกอนาคตของเด็ก ต้องเจอกับอะไรที่ยากลำบากมากมาย ถ้าเขาสามารถมีความสุขได้ด้วยตนเอง ซึ่งตรงนี้คือแก่นของพุทธศาสนา ต้องสุขให้เป็น ไม่ใช่ความสุขจากการเสพบริโภคปัจจัยภายนอก เป็นความสุขเช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ”

เมื่อธรรมะและธรรมชาติสอดประสานอย่างงดงาม การเรียนรู้ธรรมะจากธรรมชาติและสรรพสิ่ง รู้ธรรมชาติของสรรพชีวิต บ่มเพาะความจริง ความดี ความงามสู่ปัญญาตน คือ ศานติสุขสมบูรณ์ของชีวิตของเด็ก คุณครูและพ่อแม่ที่เติบโต งอกงามอยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ