บนเส้นทางพัฒนาเด็กยุคใหม่ ครูต้องกล้าๆหน่อย
เมื่อ 36 ปีก่อนโรงเรียนในแนวบูรณาการ หรือโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child-centered ) หรือถ้าเป็นโรงเรียนอนุบาล ก็จะถูกเรียกว่าโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อม
ณ วันนั้น โรงเรียนรูปแบบเหล่านี้มีอยู่น้อยและหายากมาก ที่พอจะมีอยู่บ้าง ก็คือ โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ชานเมือง ย่านสำโรง-เทพารักษ์ ในสมัยนั้นยังเดินทางกันทางคลองสำโรง ถนนหนทางก็ยังไม่ดี และแน่นอนว่ารถไฟฟ้า BTSยังไม่ได้ไปถึง โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์เป็นโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ด้านหลังโรงเรียนอยู่ติดกับคลองสำโรง เป็นโรงเรียนที่กล้าประกาศตัวเองว่า ไม่ใช่โรงเรียนแนวเร่งเรียนเขียนอ่าน แต่เป็นโรงเรียนแนวบูรณาการที่เน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ ผ่านการลงมือปฏิบัติ learning by doing ตามสโลแกนโรงเรียนที่ตั้งไว้ว่า “ เรียนเล่นสมวัย ชีวิตก้าวไกลเพราะเริ่มต้นดี ”

จากความตั้งใจของคุณปู่ล้อม และ คุณย่ามณเฑียร ไหลมาที่อยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กเล็ก ในบรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ครูต้อง (อ.ต้องจิตต์ จิตดี) ผู้เป็นหลาน จึงได้สานต่อ ความตั้งใจและได้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ จัดการเรียนการสอนให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย จนปัจจุบันนี้ ลูกสาวคือ ครูเพลง – ต้องตา จิตดี เข้ามาช่วยครูต้อง บริหาร จัดการอีกแรง นำเอาความรู้ด้านดนตรี และนำกิจกรรมสนุกๆ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หลักสูตร วิชาใหม่ที่เหมาะกับยุคสมัยมาเติมเต็มให้เด็กๆ และยังมีครูคนรุ่นใหม่อีกหลายคนทีเดียว




เช่น ครูไหม (ศุลีพร ทรัพย์ประเสริฐ) ศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ ของอนุบาลเทพารักษ์ จบปริญญาโทด้าน Art Education จาก University of Wisconsin, Madison USA ครูไหมมีความสนใจในการสอนศิลปะ สำหรับเด็ก จึงแบ่งเวลาจากงานประจำ มาช่วยสอนเด็กๆ ด้วยใจ นอกจากการส่งเสริมศิลปะแล้ว ที่โรงเรียนยังมีการส่งเสริมกิจกรรม การเคลื่อนไหวผ่านดนตรีแนวออร์ฟ รวมถึงคลาสการแสดงสำหรับเด็ก ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และความมั่นใจในตัวเอง
ที่ผ่านมาโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ ได้ใช้นวัตกรรมหลักในการจัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กคือ การสอนแบบโครงงาน (Project Approach) และล่าสุดในปีการศึกษา 2563 นี้ โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์ได้เสนอให้ครูกล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยนการจัดทำโครงงานรูปแบบเดิมที่เป็นกลุ่ม มาเป็นโครงงานเดี่ยวรายคน ขอเน้นว่านี่คือโรงเรียนอนุบาล ไม่ใช่ระดับประถมหรือมัธยม และไม่ใช่โครงงานหรือโปรเจคที่ครูต้องการให้เด็กๆ ทำ หรือเด็กๆ ทำร่วมกันทั้งห้องเรียนเช่นที่เราเห็นอยู่ในโรงเรียนทั่วไป ที่ก็อาจมีเด็กๆ บางคนไม่สนุก ไม่ได้สนใจในโปรเจคของห้อง
ครั้งนี้จึงเป็นก้าวแรกอีกก้าวหนึ่งของเด็กๆ นักเรียนอนุบาลเทพารักษ์ ตั้งแต่ระดับชั้นอ.1-อ.3 ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้และสนุกกับโปรเจคที่ตนสนใจได้อย่างแท้จริง
Individual Project Approach …โครงงานรายบุคคลของเด็กอนุบาล
เด็กๆ อนุบาลโดยทั่วไป มักจะเรียนรู้ด้วยกระบวนการผ่านโครงงานพร้อมๆ กันทั้งห้องเรียน แต่ที่นี่หลังจากปรับเปลี่ยนมาหลายแบบ จนปัจจุบัน เป็นปีแรกที่เด็กสามารถทำโครงงานรายบุคคล ตามความสนใจของเด็ก โดยครูไม่กดดันในเรื่องเวลา เรื่องความสำเร็จ หรือถ้าเด็กยังไม่พร้อมจะสร้างโปรเจคออกมา ก็รอได้ และยังเป็นโปรเจคที่เด็กๆ ได้ทำร่วมกับพ่อแม่ อีกด้วย
ครูจิ๋ว – ธนพร เอี่ยมสมุทร ผู้บริหารโรงเรียนอีกท่านหนึ่ง เป็นผู้ดูแลภาพรวมด้านวิชาการ การจัดการเรียนรู้ และการพัฒนาครู เล่าให้ฟังถึงแนวคิดและบทบาทหน้าที่ของครูอนุบาลเทพารักษ์ ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า

“ ครูต้องมีสายตามองเห็นการเรียนรู้ของเด็ก visible learning ที่เกิดขึ้น ครูได้เปิดพื้นที่ให้เด็กทำ โครงงาน โดยที่ครูให้ความสำคัญกับโครงงานของเด็กทุกคน ซึ่งในการทำโครงงานโดยทั่วไป ครูมักเอาความสนใจของเด็กๆ นำมาโหวตกันว่าโครงการของใครจะน่าสนใจที่สุด ในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจจะมีเด็กหลายคนอาจจะไม่ได้ทำโครงงานที่ตนชอบ ”
ครูของอนุบาลเทพารักษ์เชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ เด็กทุกคนสามารถทำโครงงานได้ สามารถสร้างการเรียนรู้ เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ ในสิ่งที่เหมือน กันทุกคน
“เด็กจะได้แสดงออกในสิ่งที่เขารู้ และทำได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ต้องแสดงตามคำบอก ตามสั่ง หรือต้องเหมือนเพื่อนคนอื่น เขาจะภูมิใจในสิ่งที่เขาคิด เขาอาจไม่เหมือนใคร ก็ไม่ผิด ไม่เป็นไร” ครูจิ๋วบอกเราว่ากระบวนการเรียนรู้แบบนี้จึงทำให้เด็กๆที่นี่จึงมีอิสระทั้งความคิด และการแสดงออก
กระบวนการพัฒนาโครงงานรายบุคคล
ขั้นแรก ครูมีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ชวนเด็กๆ มาเล่าเรื่องประทับใจให้เพื่อนๆ ฟัง ครูจะบันทึกความสนใจของเด็กแต่ละคนไว้ แล้วช่วยเด็กทำแผนที่ความคิด(web map) ออกมา โดยที่ครูย่อยขั้นตอนการเรียนรู้ออกมา บอกเล่าสื่อสารให้กับพ่อแม่รับทราบไปพร้อมกัน เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจและพร้อมที่จะสนับสนุนลูก


ขั้นพัฒนาโครงงาน ครูออกแบบกระบวนการเรียนรู้และแบ่งขั้นตอนการเรียนรู้การทำโปรเจค ทำไปทีละขั้นๆ เด็กๆจะค่อยเรียนรู้ตามลำดับ ในขณะที่ครูเองก็บอกกล่าวไปยังพ่อแม่ว่าเด็กๆ กำลังทำเรื่องนี้ อยากให้พ่อแม่ช่วยสนับสนุนอะไร อย่างไร
ขั้นการนำเสนอโครงการ เด็กๆ นำเรื่องราวที่ตนเองสนใจ ค้นคว้า ศึกษามา แล้วนัดวันนำเสนอให้ครูและเพื่อนฟัง
ขั้นตอนการสรุปประเมิน เด็กจะประเมินตัวเองว่าเป็นอย่างไร ที่ทำไปพอหรือไม่ ภูมิใจไหม หรือมีปัญหาอะไร ในขณะที่ขั้นตอนนี้ครูก็จะประเมินพัฒนาการและทักษะต่างๆที่เด็กได้เรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายหรือไม่
แน่นอนว่าการทำโครงงานรายบุคคลนี้เป็นการเรียนรู้ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติ การศึกษา สำรวจ เด็กๆได้สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในส่วนของครูก็เรียกได้ว่าเป็นการทำแผนการเรียนการสอนรายบุคคลเลยทีเดียว โครงงานหนึ่งที่คุณครูและเด็กๆ ในโรงเรียน ยังประทับใจอยู่ก็คือ เด็กคนหนึ่งสนใจเรื่องการเลี้ยงม้า การบังคับม้า เขาเรียนขี่ม้าอยู่ จึงถึงขั้นนำม้ามาสาธิตการขี่ม้าที่โรงเรียนให้เพื่อนๆ มาดู และให้คุณครูสอนขี่ม้ามาช่วยสอนเพื่อนๆด้วย

ครูต้องกล้าๆหน่อย พ่อแม่พร้อมช่วย
ครูจิ๋ว เล่าถึงเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้เป็นการทำโครงงานรายบุคคลในปีนี้ว่า
“ จริงๆ แล้ว เราก็คิดกันมานานสักระยะหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่เขาทำโปรเจคกันเป็นรายห้องเรียน ไม่กล้าหาญที่จะหลุดออกมา เราบอกกับครูว่า ครั้งนี้เราขอ จะผิดถูกหรือล้มเหลวก็ได้ เด็กๆอาจจะทำไม่ได้ครบทุกคน ก็ไม่เป็นไร เราต้องกล้าหาญ ในขณะเดียวกันครูเองก็จะไม่ได้รู้สึกกดดันจากผู้บริหาร ต้องทำผลงานของตัวเองออกมา เราแค่อยากให้กระบวนการเรียนรู้แบบนี้เกิดขึ้นให้ได้ เราต้องกล้าๆหน่อย”
จากกระบวนการเรียนรู้เป็นรายบุคคลนี้ โรงเรียนวาดหวังว่าอยากเห็นเด็กๆ มีอิสระทางความคิด ไม่ถูกครอบจากครู เด็กจะเห็นได้ว่าครูไม่ใช่ผู้สอนความรู้ ความรู้มีอยู่ทั่วไป ไม่จำเป็นที่ความรู้ต้องเกิดจากการสอนของครูเท่านั้น
โครงงานรายบุคคลครั้งนี้ ส่วนสำคัญหนึ่งก็คือพ่อแม่ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในโครงงานของลูกด้วย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่เป็นอย่างมาก เพราะพ่อแม่ก็อยากเห็น ลูกมีอิสระทางความคิดเช่นกัน พ่อแม่จึงยินดีที่จะร่วมมือ นับว่าช่วยคุณครูได้มากทีเดียว เดิมทีครูเองกลัวว่าจะรบกวนพ่อแม่ พ่อแม่จะไม่ร่วมมือ พอเอาเข้าจริงพ่อแม่กว่า 80 % ยินดีให้ความช่วยเหลือครูอย่างมาก
ในส่วนของการเตรียมการพัฒนาครูให้มีความพร้อมกับการเรียนรู้ด้วยกระบวนการนี้ ครูจิ๋วบอกว่า
“ ครูเขารู้ว่าผู้บริหารยินดีที่จะช่วยเขา อะไรที่ยาก พี่ก็จะเข้าไปช่วยคุยกับพ่อแม่บ้าง ให้พ่อแม่เข้าใจมากขึ้นว่าการเรียนรู้แบบนี้ ลูกๆจะได้อะไร พร้อมกับให้กำลังใจครู เพราะรู้ว่าครูต้องเหนื่อยมากขึ้นในการจัดการเรียนรู้รายบุคคล ต้องเตรียมการเยอะมาก เราต้องทำให้ครูเชื่อว่า เขาทำได้ ไม่ต้องกลัวผิด ไม่ถูกกดดัน
ถ้าเรากดดันครู ครูก็จะไปกดดันเด็ก พอครูเขารู้สึกอิสระ เขาก็จะไปให้อิสระกับเด็กต่อไป ”
“ครูของเราตอนนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ เราต้องฟังเขาเยอะๆ และฟังอย่างไม่ตัดสิน เราไม่ฟังครูไม่ได้เลยนะ พี่จะแค่ให้คำแนะนำ ครูจะได้โอกาสทดลองทำหมดทุกอย่าง ยกเว้นแค่เรื่องที่เป็นอันตราย อย่างเวลาครูเอาแผนการสอนมาส่ง พี่ก็จะเดินไปคุยกัน อาจเขียนแนะนำนิดหน่อย แต่ให้เขาไปหาทางแก้ไขเพิ่มเติมด้วยตนเอง ”

“ ที่นี่คุณครูอยู่กันยาวนานเป็นหลายสิบปี และตอนนี้มีครูรุ่นใหม่ๆเข้ามาเสริมทีม อย่างคุณครูศิลปะ ครูดนตรี หรือครูที่จบด้านครีเอทีฟดรามาก็มี เราก็ทำให้ครูทั้ง 2 รุ่น 2 เจนเนอเรชั่น เสริมกันได้ ”
ครูเพลง ในฐานะครูคนหนึ่ง และในฐานะลูกสาวเจ้าของโรงเรียนที่รู้สึกว้าวกับเด็กๆ จึงได้เข้ามาสนับสนุนการทำงานของในโรงเรียนหลายๆด้าน การมีอายุอานามใกล้เคียงกับเพื่อนครูรุ่นใหม่ จึงสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กันได้ ฝันหนึ่งของครูเพลงก็คือในอนาคตอยากเห็นโรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์เป็น Creative Kindergarten

ส่วนครูไหม ศิษย์เก่ารุ่นแรกๆของโรงเรียนที่เข้ามาเป็นครูศิลปะ เสริมว่า“ ในฐานะที่หนูเป็นครูใหม่ที่เข้ามาทำงานไม่นานนัก บางครั้งเรามีไอเดียที่อยากนำเสนอ ผู้บริหารก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำ ให้แนวทาง ช่วยเรามอง บางครั้งส่งไปเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม หนูคิดว่าหนูได้เรียนรู้มากขึ้น ได้พัฒนาในหลายมิติ ”

เสียงหัวเราะของเด็กๆ แว่วเข้ามา แม้จะถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว แต่เด็กๆ ยังคงวิ่งเล่น ปีนป่ายบ้านต้นไม้ วิ่งไล่จับกันกลางสนามหญ้า ความสุขในการเล่นและการเรียนรู้ที่โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์นั้นเป็นเรื่องเดียวกันจริงๆ